ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ หารืองานวิจัยพืชสมุนไพร ร่วมกับซินโครตรอน กระทรวง อว.
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ หารืองานวิจัยพืชสมุนไพร ร่วมกับซินโครตรอน กระทรวง อว.
คณะผู้บริหาร และนักวิจัยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เยี่ยมชมสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) พร้อมศึกษาดูงานการวิเคราะห์คุณสมบัติของพืชสมุนไพร พร้อมแลกเปลี่ยนแนวคิดการวิจัย ภายใต้เป้าหมายยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรและวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเครื่องสำอางฮาลาลสู่ตะวันออกกลาง คาดหวังเทคโนโลยีซินโครตรอนจะมีส่วนช่วยพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ได้
นครราชสีมา – รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมคณะผู้บริหารและนักวิจัย ได้เดินทางมาเยี่ยมชมสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 เพื่อศึกษาดูงานการดำเนินงานของสถาบันฯ ในเรื่องการวิเคราะห์คุณสมบัติพืชสมุนไพรชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของผลิตภัณฑ์ภายใต้โครงการยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกพืชสมุนไพรและวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเครื่องสำอางฮาลาลสู่ตลาดใหม่มุสลิมตะวันออกกลาง และการวิเคราะห์วิธีอื่นๆ ด้วยแสงซินโครตรอน พร้อมทั้งเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแสงสยาม และห้องปฏิบัติการด้านอาหารและการเกษตร ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ คณะนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้นำเสนอและเทคนิคการวิเคราะห์ด้วยแสงซินโครตรอน ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจในวัตถุดิบต่างๆ มากขึ้น และยกตัวอย่างงานวิจัยทางด้านสมุนไพร อาหารและการเกษตร เช่น การศึกษาธาตุในเห็ดหอมและเห็ดหูหนู อาทิ ธาตุเหล็ก แมงกานีส แคลเซียม และโพแทสเซียม รวมถึงการศึกษาสมบัติในการลดไขมันในเลือดของเห็ดหลินจือ การศึกษาสารสกัดจากเส้นไหมดิบที่มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งลำไส้ เป็นต้น พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนแนวคิดงานวิจัยร่วมกับคณะผู้บริหาร และนักวิจัยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน กล่าวว่า “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ เริ่มต้นจากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ขนาดเล็กในคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2538 และได้ขยายตัวเติบโตจนยกระดับเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล โดยได้รับการยอมรับจากมุสลิมโลกว่าเป็นหน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกของโลก การมาเยี่ยมชมสถาบันฯ ครั้งนี้คาดหวังว่าเทคโนโลยีซินโครตรอนน่าจะมีส่วนช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และนวัตกรรมให้แก่ทางศูนย์ฯ ได้”
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น