อาจารย์คณะวิทย์ ม.รามฯ คว้ารางวัล UNESCO/IOC-WESTPAC Outstanding Scientist Award 2024
อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ม.รามคำแหง คว้ารางวัล UNESCO/IOC-WESTPAC Outstanding Scientist Award 2024
รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และนายกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น (WESTPAC Outstanding Scientist Award 2024) จากคณะอนุกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยสมุทรศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก (IOC Sub Commission for the Western Pacific: IOC-WESTPAC) ภายใต้องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เพื่อเชิดชูนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และมีคุณูปการอย่างยิ่งต่อภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก ปัจจุบัน IOC-WESTPAC ประกอบด้วย 22 ประเทศสมาชิก เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม ไทย ฯลฯ
พิธีมอบรางวัล UNESCO/IOC-WESTPAC Outstanding Scientist Award 2024 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ภายในงานประชุมวิชาการนานาชาติ 2nd UN Ocean Decade Regional Conference & 11th WESTPAC International Marine Science Conference ภายใต้หัวข้อ “Accelerating Ocean Science Solutions For Sustainable Development” ระหว่างวันที่ 22 – 25 เมษายน 2567 ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร โดยมี พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติฯ
นาย Wenxi Zhu หัวหน้าสำนักงาน IOC-WESTPAC ซึ่งเป็นองค์กรประสานงานของ UNESCO ในภูมิภาค กล่าวถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลและชายฝั่ง สุขภาพของระบบนิเวศในมหาสมุทร การพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน และการดำเนินงานของประเทศไทยภายใต้ทศวรรษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ทางมหาสมุทรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นับเป็นก้าวสำคัญทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก IOC-WESTPAC มอบรางวัล Outstanding Scientist Award ครั้งแรกในปี ค.ศ. 2014 ให้แก่นักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานยอดเยี่ยม 5 ท่าน และในปี ค.ศ. 2017 จำนวน 3 ท่าน สำหรับในปี ค.ศ. 2024 IOC-WESTPAC พิจารณาคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานวิจัยดีเด่น และเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการพัฒนาวิทยาศาสตร์มหาสมุทรในภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตกอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง จำนวน 5 ท่าน ดังนี้
1) Dr. Zainal Arifin, National Research and Innovation Agency, Indonesia
2) Dr. Thamasak Yeemin, Ramkhamhaeng University/Marine Science Association of Thailand
3) Dr. Daoji Li, East China Normal University, China
4) Dr. Vo Si Tuan, GEF/UNEP South China Sea SAP Project/ Institute of Oceanography, Vietnam
5) Dr. Gil Jacinto, University of the Philippines, the Philippines
รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน นักวิทยาศาสตร์ไทยที่ได้รับรางวัลนี้ เป็นผู้ที่ได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลมาเกือบสี่ทศวรรษในการทำงานด้านชีววิทยา นิเวศวิทยา วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงพื้นที่คุ้มครองทางทะเล มีประสบการณ์ที่ครอบคลุมทั้งด้านการจัดการ การอนุรักษ์ และการวิจัย เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Asia Pacific Coral Reef Society และเป็นประธานการจัดประชุมวิชาการ Second Asia Pacific Coral Reef Symposium เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร International Society for Reef Studies (ISRS) นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย และทำงานให้กับองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง ตลอดจนหน่วยงานระดับภูมิภาค ระดับประเทศ หน่วยงานระดับท้องถิ่น และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อวางแผนและดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น ASEAN-Australia Economic Cooperation Program on Marine Science Project, UNEP/GEF Project on Reversing Environmental Degradation Trends in the South China Sea and Gulf of Thailand, Global Coral Reef Monitoring Network, International Coral Reef Initiative, International Maritime Organization, United Nations Development Programme, German Corporation for International Cooperation GmbH, ASEAN Center for Biodiversity, Too Big To Ignore Project: Global Partnership for Sustainable Fisheries Research, COBSEA Working Group on Marine and Coastal Ecosystems ฯลฯ
รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ได้รับเชิญให้เป็น Keynote Speaker, Invited Speaker และ convenor ของการประชุมนานาชาติจำนวนมาก เช่น International Coral Reef Symposium, International Marine Conservation Congress, Asian Marine Biology Symposium, Pacific Science Congress, IMBeR West Pacific Symposium ฯลฯ เป็น project leader ของ IOC-WESTPAC Program on the Coral Reef Resilience to Climate Change and Human Impacts เป็นประธาน และผู้ร่วมจัด First, Second and Third Summer Schools for IOC/WESTPAC-CorReCAP Project และสนับสนุนการดำเนินงานของ IOC-WESTAPAC มาอย่างต่อเนื่อง เป็นบรรณาธิการรับเชิญของวารสาร Deep-Sea Research Part II (ELSEVIER), Coral Reefs under the Climate and Anthropogenic Perturbations (CorReCAP): An IOC/WESTPAC Approach เป็นบรรณาธิการ และผู้เขียนในหนังสือ: Coral Reefs of the World Vol. 14 (Springer) - Coral Reefs of the Western Pacific Ocean in a Changing Anthropocene และมีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ทั้งในวารสารระดับชาติและระดับนานาชาติจำนวนมาก
ด้วยการอุทิศตนอย่างแน่วแน่ในสาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเลมาเกือบสี่ทศวรรษ และเป็นแบบอย่างของนักวิจัยที่ทำงานอย่างเข้มแข็ง มีผลงานที่โดดเด่น ทำให้ได้รับการยอมรับและความเคารพอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่ในวงการวิทยาศาสตร์ทางทะเลของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในระดับนานาชาติด้วย รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน จึงสมควรได้รับรางวัล UNESCO/IOC-WESTPAC Outstanding Scientist Award 2024
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น